U.S. Tariffs on Thailand
- Sunset Magazine Thai
- 9 เม.ย.
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 9 เม.ย.
ทรัมป์ ประกาศกร้าวขึ้นภาษีนำเข้าสูงสุดในรอบ 100 ปี ! ส่งผลกระทบกับไทยอย่างไรบ้าง?
By Vichita Virochpoka

นับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2568 ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กลับเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง หลายประเทศก็หวาดหวั่นกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะนโยบายในเรื่อง "มาตรการภาษีนำเข้า" ที่กลายเป็นหมากสำคัญในเกมการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งล่าสุดเองประเทศไทยก็หนีไม่พ้นเช่นเดียวกัน
โดยเรื่องที่เป็นฮือฮาทั่วโลกล่าสุดนี้คือ ทรัมป์ได้ออกมาตรการใหม่ โดยกำหนดเพดานภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น และสำหรับสินค้าจากประเทศไทยถูกกำหนดไว้ที่ 36% เริ่มมีผลตั้งแต่ วันที่ 9 เมษายน 2568 เวลา 00.01 น. (EDT) เป็นการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่สหรัฐเรียกเก็บเพิ่มเพียง 10% นโยบายนี้เรียกว่า “ภาษีตอบโต้” (Reciprocal Tariff) เพื่อสะท้อนอัตราภาษีที่สหรัฐถูกเก็บจากประเทศคู่ค้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อภาคการส่งออกของไทยและทั่วโลก
โดยสัดส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2567 ได้แก่:
เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 24.9% ด้วยมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 11% ด้วยมูลค่ากว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ผลิตภัณฑ์ยาง 10.6% ด้วยมูลค่ากว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอต 5.8% ด้วยมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ด้วยมูลค่าเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยที่สินค้าไทยที่ขึ้นเรือก่อนเวลา 00.01 น. จะไม่ถูกเรียกเก็บในอัตราใหม่นี้ แม้ว่าจะเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ภายหลัง แต่ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ยังคงเรียกเก็บตามปกติ ไทม์ไลน์ต่อมาที่ต้องจับตามองเลยคือ วันที่ 3 พฤษภาคม 2568 สหรัฐฯ จะเพิ่มภาษีอีก 25% กับชิ้นส่วนรถยนต์ที่นำเข้าจากทุกประเทศทั่วโลก

ฝั่งจีนเองก็เผชิญหน้ากับวิกฤตนโยบายนี้หนักที่สุด โดยทรัมป์ประกาศภาษี 104% กับสินค้าจีน เนื่องจากจีนไม่ยอมยกเลิกกำแพงภาษีเดิม 34% ต่อสินค้าสหรัฐฯ ตามกำหนดเส้นตาย ทำให้จีนประกาศจะตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีอีก 50% พร้อมคำเตือนว่า สหรัฐกำลังทำผิดซ้ำรอยเดิม
จากข้อมูลในปีที่ผ่านมา จีนเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับ 2 ของสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ากว่า 439,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 15 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันจีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพียง 144,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 5 ล้านล้านบาท ความเหลื่อมล้ำนี้คือเบื้องหลังความรุนแรงของนโยบายภาษี
ในส่วนของประเทศไทย ผลกระทบเริ่มชัดเจน โดยเฉพาะสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีมูลค่ากว่า 50 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 28% การถูกเก็บภาษีเพิ่ม 36% จะกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันและอาจทำให้เกิดการ ชะลอตัวของสินค้าแม้จะอยู่ระหว่างขนส่ง ในขณะที่ยังไม่มีแผนรับมือจากฝั่งรัฐบาลไทย ทั้งเรื่องการต่อรองหรือใช้กลไกระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซง
เศรษฐกรคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไป GDP ไทยอาจลดลงไม่น้อยกว่า 1% และการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือเป็น การขึ้นภาษีนำเข้าสูงที่สุดในรอบ 100 ปี
ดร. วิบูลย์ รักศาสน์เจริญผล ได้วิเคราะห์ในรายการ Morning Wealth ว่าการขึ้นภาษีของทรัมป์ครั้งนี้สะท้อนความต้องการหลัก 3 ประการของสหรัฐฯ ได้แก่
ต้องการเงินสด (Cash): ทรัมป์ได้ลดภาษีให้กับกลุ่มคนรวยและชนชั้นกลาง ส่งผลให้ประเทศขาดรายได้หลัก จึงหันไปดึงภาษีจากการค้าระหว่างประเทศ
สกัดจีน: เป็นกลยุทธ์เพื่อปิดกั้นอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน และยับยั้งไม่ให้จีนย้ายฐานการผลิตมาป้อนตลาดสหรัฐฯ
ผลักดันให้ย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ: สหรัฐต้องการฟื้นอุตสาหกรรมในประเทศ โดยใช้กำแพงภาษีกดดันให้ผู้ผลิตทั่วโลกกลับมาลงทุนในอเมริกา
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม ที่โดนภาษี 46% และต้องเร่งปรับตัวอย่างฉับไว ท่ามกลางวิกฤติที่ดัชนีตลาดหุ้นดิ่งลง 7% ในวันเดียว หลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี ยังถือว่าประเทศไทยเองอยู่ในสถานะที่ยังสามารถ กำหนดกลยุทธ์รับมือได้หากไม่ชะลอการตัดสินใจนานเกินไป
แน่นอนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตึงเครียดทั่วโลกเช่นนี้ ยากที่จะรับมือได้ในทันที แม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มเดินเกมรุกหรือยอมลดภาษีของประเทศไปแล้ว ในประเทศไทยเองก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนการวางแผนและเตรียมรับมืออย่างเต็มที่ การขึ้นภาษีนำเข้าสู่สหรัฐอเมริกานั้นอาจจะฟังดูยิ่งใหญ่และไกลตัว แต่อาจจะเกิดผลกระทบในวงกว้างได้ จึงอยากให้ผู้ประกอบการ ผู้ลงทุนและประชาชนทุกท่าน ติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ
Comments